เมื่อเมืองใหญ่ไม่ได้น่าอยู่สำหรับพวกเขา ต่างคนจึงต่างเก็บกระเป๋าหอบหิ้วความฝันกลับมารดน้ำพรวนดินที่บ้านเกิด
จากชุมชนที่ถูกหลงลืมเสียยิ่งกว่าเมืองผ่าน บรรพบุรุษคนตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแรงร่วมใจพลิกฟื้นจนปัจจุบันไม่น้อยหน้าใคร แถมยังรักษาไว้ซึ่งผืนป่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ และมีเกษตรกรรมน้ำดีหล่อเลี้ยงชีวิตคนแม่ทาเอาไว้จากรุ่นสู่รุ่น
ขณะที่ความเจริญและระบอบทุนนิยมดึงคนจากบ้านเกิดเข้าสู่สายพานการผลิต เทคโนโลยีกลายเป็นดาบสองคมที่ให้ทั้งคุณแก่ชีวิตและให้โทษแก่จิตสำนึกของมนุษย์ อีกฝั่งหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับอุตสาหกรรมคือเกษตรกรรม วลีที่ว่า “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” หรือ “อาบเหงื่อต่างน้ำ” กลายเป็นความ 0.4 ในสายตาคนยุค 4.0
ผ่านสถานการณ์ฉุกเฉินมานักต่อนัก ตั้งแต่ความล้มเหลวของแผนปฏิวัติเขียวปี พ.ศ.2504, ราคาผลผลิตตกต่ำทุกชนิด ทั้ง ยาสูบ ถั่วลิสง มะเขือเทศ ถั่วลันเตา ขิง ฯลฯ, เกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัว และอีกสารพันปัญหา ทำให้ชาวแม่ทาล้มลุกคลุกคลานจนต้องหันมาทำเกษตรกรรมยั่งยืนควบคู่ไปกับรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพราะน้ำและป่าคือแหล่งอาหาร คือที่ทำกิน
ทว่าสิ่งที่น่าประหลาดใจคือทั้งที่ได้รับการฟื้นฟูจนกระทั่ง ป่าดี น้ำดี อาหารดี สังคมดี แต่ลูกหลานกลับทยอยย้ายหนีไปจากชุมชน คนรุ่นก่อนจึงพยายามหาทางดึงคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ผ่านงานวิจัยที่กำลังก่อตัวด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หรือ สกว.เดิม
ระหว่างทางที่งานวิจัยยังไม่เริ่มต้น มีคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งพร้อมใจกันกลับถิ่นฐานบ้านเกิดโดยมิได้นัดหมาย มีเพียงเสียงหัวใจเรียกร้องว่าอยากกลับมาพัฒนาบ้านตัวเอง
“เราไม่อยากให้เรื่องเกษตรกรรมหายไปเรื่อยๆ จนเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งเหลือเกษตรกรรมแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ลูกหลานชาวฝรั่งเศสที่อยากทำเกษตรก็ทำไม่ได้แล้วเพราะไม่มีที่ทำกิน” มัทนา อภัยมูล สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออแกนิคและเป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ เปิดเผย เพราะนับตั้งแต่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะผลิตกรรมการเกษตร เธอหอบความรู้กลับมาบ้านทันที แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรกรีนเนท มูลนิธิสายใยแผ่นดิน แต่ขอบข่ายงานยังเกี่ยวข้องกับการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องเมล็ดพันธุ์อินทรีย์
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ฉบับเต็ม
ขอบคุณที่มา ข้อมูลและรูป http://www.judprakai.com