เกี่ยวกับแอปพลิเคชัน
ผ่อดีดี มี 18 ฟีเจอร์ หลักๆ ประกอบด้วย
ด้านสุขภาพคน
1. ฟีเจอร์เฝ้าระวังโรคระบาด/เหตุผิดปกติในคน
การเฝ้าระวังโรคระบาด/เหตุผิดปกติสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ผ่อดีดีจึงได้พัฒนาฟีเจอร์เฝ้าระวังโรคระบาด/เหตุผิดปกติในคน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเชิงรุก ถือเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านและอาสาสมัครผ่อดีดีแจ้งโรคระบาดหรือสงสัยว่าเป็นโรคระบาดจากอาการผิดปกติทางสุขภาพของคนในชุมชน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก อาหารเป็นพิษ หรือโรคมือเท้าปาก โดยระบุอาการที่สังเกตพบผ่านฟีเจอร์นี้ในแอปพลิเคชันไลน์ (@podd-report) จากนั้นระบบจะทำการประมวลผล และแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามการตั้งค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท. และ รพ.สต. เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น รวมถึงสาธารณสุขอำเภอ/จังหวัด เพื่อเตรียมมาตราการป้องกันให้พร้อมรับสถานการณ์ต่อไป
2. ฟีเจอร์คุ้มครองผู้บริโภค
ปัญหาเครื่องอุปโภค-บริโภคที่ไม่ได้มาตรฐาน ผิดกฎหมาย และมีสารเคมีปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ถือเป็นปัญหาสำคัญและมีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละปี ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบและได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ผ่อดีดีจึงได้พัฒนาฟีเจอร์คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านและอาสาสมัครผ่อดีดีแจ้งปัญหาเกี่ยวกับสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ยาชุด ยาปลอม เครื่องสำอางอันตราย เป็นต้น โดยกรอกข้อมูลและรายละเอียดของสินค้าที่พบผ่านฟีเจอร์นี้ในแอปพลิเคชันไลน์ (@podd-report) จากนั้นระบบดีจะทำการประมวลผล และแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามการตั้งค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณสุขอำเภอเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป
3. ฟีเจอร์จุดหรือกิจกรรมเสี่ยงต่อภัยสุขภาพ
ฟีเจอร์จุดหรือกิจกรรมเสี่ยงต่อภัยสุขภาพนี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านและอาสาสมัครผ่อดีดีแจ้งปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงอันตรายในชุมชน เช่น สี่แยกอันตราย ถนนชำรุด ถนนมืด เป็นต้น รวมถึงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพของคนในชุมชน เช่น กิจกรรม/แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ กิจกรรมผจญภัย เป็นต้น โดยกรอกข้อมูลและรายละเอียดของจุดเสี่ยง/กิจกรรมเสี่ยงที่พบผ่านฟีเจอร์นี้ในแอปพลิเคชันผ่อดีดี จากนั้นระบบอัติโนมัติผ่อดีดีจะทำการประมวลผล และแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามการตั้งค่า เพื่อให้เกิดการตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตราย และวางแผนแนวทางแก้ไขต่อไป
4. ฟีเจอร์ควบคุมและเฝ้าระวังไข้เลือดออก
4.1) สำรวจลูกน้ำยุงลาย
โรคไข้เลือดออกถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในประเทศไทย อัตราการป่วยและตายจากโรคไข้เลือดออกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละปี หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาไข้เลือดออกคือ การควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน (อสม.) ออกสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนเป็นประจำทุกอาทิตย์ และส่งข้อมูลให้กับ รพ.สต. เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลและประมวลผลค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย (Household Index; HI และ Container Index; CI) ลงในระบบส่วนกลาง ซึ่งต้องอาศัยแรงงานและเวลาในการดำเนินการ โครงการผ่อดีดีจึงได้พัฒนาฟีเจอร์สำรวจลูกน้ำยุงลาย เพื่อเป็นเครื่องมือดิจิทัลอัตโนมัติช่วยอำนวยความสะดวกต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ในการกรอกข้อมูล ประมวลผล และแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายเกินกว่าที่กำหนด โดยมี อสม. หรืออาสาสมัครผ่อดีดี เป็นผู้กรอกข้อมูลสำคัญทั้งสิ้น 4 รายการ ผ่านฟีเจอร์นี้ในแอปพลิเคชันผ่อดีดี ได้แก่ จำนวนบ้านที่นับทั้งหมด (หลัง) จำนวนบ้านที่พบลูกน้ำยุงลาย (หลัง) จำนวนภาชนะที่นับทั้งหมด (ชิ้น) และจำนวนภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลาย (ชิ้น) จากนั้นระบบอัติโนมัติผ่อดีดีจะทำการประมวลผลและส่งข้อมูลค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในรอบสัปดาห์ให้ รพ.สต. เป็นประจำทุกวันจันทร์ เพื่อเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกและเก็บเป็นฐานข้อมูลของชุมชน และหากค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงเกินค่ามาตรฐาน ระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทันที
4.2) ระบุพิกัดผู้ป่วยไข้เลือดออก
การพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดยุงลายตัวแก่พาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออกในระยะ 100 เมตร รอบบริเวณบ้านของผู้ป่วยไข้เลือดออก ถือเป็นหนึ่งในวิธีการควบคุมปัญหาโรคไข้เลือดออกที่ต้องอาศัยหลายหน่วยงานในการดำเนินการพ่นหมอกควันนี้ การประสานงานที่ชัดเจนและข้อมูลแจ้งเตือนที่ทันท่วงทีจึงจำเป็นต่อการทำงานแบบบูรณาการนี้มาก โครงการผ่อดีดีจึงได้พัฒนาฟีเจอร์ระบุพิกัดผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยประสานงานและอำนวยความสะดวกต่อการทำงานร่วมกันระหว่าง อปท. และ รพ.สต. ในชุมชน โดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ดำเนินการยิงพิกัด GPS ณ บ้านของผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ได้รับการวินิจฉัยจากโรงพยาบาลแล้ว ผ่านฟีเจอร์นี้ในแอปพลิเคชันผ่อดีดี จากนั้นระบบอัติโนมัติผ่อดีดีจะทำการประมวลผล และแสดงแผนที่รัศมี 100 เมตรรอบบ้านผู้ป่วย เพื่อกำหนดขอบเขตการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายตัวแก่ พร้อมทั้งส่งข้อมูลและแจ้งเตือนไปยัง อปท. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสามารถรู้ขอบเขตของการพ่นสารเคมีได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น อีกทั้งข้อมูล GPS ดังกล่าว ถือเป็นฐานข้อมูลโรคไข้เลือดออกของชุมชน สามารถนำมาวิเคราะห์การกระจายตัวของผู้ป่วยตามพื้นที่และวันที่ป่วยได้ เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนรับมือและป้องกันโรคไข้เลือดออกของชุมชนในอนาคต
5. ฟีเจอร์เฝ้าระวังโรค COVID-19
การรายงานอาการป่วยและเฝ้าติดตามผู้เดินทาง หรือผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จะทำให้อปท./ชุมชน สามารถระบุระดับความเสี่ยงของบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง โดยมีเครื่องมือช่วยเตือนและติดตาม รายงานสุขภาพและบันทึกอัตโนมัติ จนครบระยะเวลาติดตาม 14 วัน และประมวลผลระดับความเสี่ยงอัตโนมัติ อปท. สามารถรู้ถึงสถานะ/ความรุนแรง/ระดับความเสี่ยงของพื้นที่ทั้งตำบลและระดับหมู่บ้านในความดูแล ที่เกิดจากการประมวลผลรายงานที่เข้ามาใหม่ทุกวัน รวมทั้งได้รับการแจ้งเตือนวิธีปฏิบัติต่อผู้มีความเสี่ยงทันทีทันใด (เรียลไทม์) และประมวลผลเพื่อแจ้งเตือนอัตโนมัติ การปลอดหรือเกิดขึ้นของคลัสเตอร์ผู้ป่วยในตำบลที่เฝ้าระวังประจำวัน
6. ฟีเจอร์แจ้งรับความช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง
โครงการผ่อดีดีจังหวัดเชียงราย ภายใต้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงได้พัฒนาฟีเจอร์แจ้งรับความช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ที่สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ ประวัติการรักษา ประวัติการรับความช่วยเหลือ และสภาพร่างกายของผู้ต้องการความช่วยเหลือดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และตรงกับความต้องการของผู้ป่วย
ด้านสุขภาพสัตว์
7. ฟีเจอร์เฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์
การเลี้ยงสัตว์หลังบ้าน เช่น ไก่พื้นเมือง โคเนื้อ หมูหลุม เป็นต้น ถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญทางหนึ่งของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนแถบชานเมืองและชนบท การพบสัตว์ป่วยหรือแสดงอาการผิดปกติ รวมถึงการป่วยตายเฉียบพลัน ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้และเศรษฐกิจของครัวเรือน เนื่องจากอาจเสียหายเป็นอย่างมาก ด้วยขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ต้องดูแล และหากการป่วย/ตายของสัตว์เลี้ยงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากโรคระบาดที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการใช้ชีวิตของคนในชุมชนนั้นอย่างมาก ผ่อดีดีจึงได้พัฒนาฟีเจอร์เฝ้าระวังโรคระบาด/เหตุผิดปกติในสัตว์ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านและอาสาสมัครผ่อดีดีแจ้งเหตุผิดปกติในสัตว์เลี้ยงของตน โดยกรอกข้อมูลสัตว์เลี้ยงและอาการผิดปกติที่พบผ่านฟีเจอร์นี้ในแอปพลิเคชันไลน์ (@podd-report) จากนั้นระบบจะทำการประมวลผล และให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้แจ้งเหตุ พร้อมแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามการตั้งค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท. เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และปศุสัตว์อำเภอ/จังหวัด เพื่อให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่อไป
8. ฟีเจอร์สำรวจประชากรสัตว์เลี้ยง
พัฒนาขึ้นเพื่อเสริมการสำรวจและการขึ้นทะเบียนสัตว์ของ อปท. ทั้งที่มีและไม่มีเจ้าของ โดยอาสาสมัครผ่อดีดีเป็นผู้กรอกข้อมูล ถือเป็นการลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ อปท. โดยฐานข้อมูลส่วนนี้จะถูกพัฒนาต่อยอด เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับระบบของกรมปศุสัตว์ Thai Rabies Net ในระยะต่อไป
8.1 การสำรวจประชากรสัตว์เลี้ยงทะเบียนสัตว์มีเจ้าของ
พัฒนาขึ้นเพี่อสำรวจและขึ้นทะเบียนสัตว์ที่มีเจ้าของในชุมชน โดยประชาชนทั่วไปเป็นผู้กรอกข้อมูล ถือเป็นการลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ อปท. และเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน อีกทั้งฐานข้อมูลส่วนนี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อส่งไปยังหน่วยงานอื่นที่ต้องการและร้องขอได้
8.2 การสำรวจประชากรสัตว์เลี้ยงทะเบียนสัตว์ชุมชน/จรจัด
ฃพัฒนาขึ้นเพี่อสำรวจและขึ้นทะเบียนสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของในชุมชน โดยประชาชนทั่วไปเป็นผู้กรอกข้อมูล ถือเป็นการลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ อปท. และเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน อีกทั้งฐานข้อมูลส่วนนี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อส่งไปยังหน่วยงานอื่นที่ต้องการและร้องขอได้
9. ฟีเจอร์สัตว์กัด/เฝ้าระวังพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อที่สำคัญในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โดยเฉพาะในคนที่ถูกสัตว์ป่วยกัด เลีย หรือข่วน จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าและหากไม่ได้รับวัคซีนภายในเวลาที่กำหนด โอกาสเสียชีวิตแทบจะมากถึง 100% ดังนั้นการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในสัตว์และคนจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โครงการผ่อดีดีจึงได้พัฒนาฟีเจอร์เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า – สัตว์กัด โดยเมื่อพบเห็นสัตว์ที่แสดงอาการป่วยหรือสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรือพบคนถูกสัตว์กัด สามารถแจ้งเหตุผ่านฟีเจอร์นี้ในแอปพลิเคชันไลน์ (@podd-report) เพียงแค่ถ่ายรูปและกรอกรายละเอียดของสัตว์ต้องสงสัยติดเชื้อพิษสุนัขบ้า รวมถึงถ่ายรูปสัตว์ที่กัดและกรอกรายละเอียดผู้ป่วยในกรณีที่มีผู้ถูกสัตว์กัด ระบบอัติโนมัติผ่อดีดีจะทำการประมวลผลและส่งข้อมูลพร้อมการแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เฝ้าติดตามสัตว์และแจ้งเตือนชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เฝ้าติดตามผู้ป่วยในพื้นที่ต่อไป
ด้านสิ่งแวดล้อม
10. ฟีเจอร์ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงดัง กลิ่นเหม็น ควัน น้ำเสีย ขยะ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในชุมชน และอาจเป็นสาเหตุของภัยสุขภาพตามมา โครงการผ่อดีดีจึงได้พัฒนาฟีเจอร์สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านและอาสาสมัครผ่อดีดีแจ้งปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยกรอกข้อมูลและรายละเอียดของเหตุการณ์ที่พบผ่านฟีเจอร์นี้ในแอปพลิเคชันไลน์ (@podd-report) จากนั้นระบบจะทำการประมวลผล และแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามการตั้งค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดชุมชนที่สุด และจะสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดที่สุด
11. ฟีเจอร์ภัยธรรมชาติและสาธารณภัย
ภัยธรรมชาติและสาธารณภัย เป็นผลกระทบที่เกิดจากอันตรายจากธรรมชาติ ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อพิจารณาใช้มาตราการรับมือและลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โครงการผ่อดีดีจึงได้พัฒนาฟีเจอร์ภัยธรรมชาติและสาธารณภัย เพื่อเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านและอาสาสมัครผ่อดีดีแจ้งการเกิดภัยธรรมชาติและสาธารณภัย เช่น การเผาในที่โล่งแจ้ง ไฟไหม้ป่า น้ำป่าไหลหลาก เป็นต้น โดยกรอกข้อมูลและรายละเอียดของเหตุการณ์ที่พบผ่านฟีเจอร์นี้ในแอปพลิเคชันไลน์ (@podd-report) จากนั้นระบบจะทำการประมวลผล และแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามการตั้งค่า เพื่อช่วยเฝ้าระวังและแจ้งเตือนพื้นที่ใกล้เคียงได้ทันท่วงที
12. ฟีเจอร์ไฟป่าและการเผาในที่โล่ง
ฟีเจอร์รายงานและช่วยจัดการไฟป่าและหมอกควัน พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยอุดช่องว่างของระบบการรับมือไฟป่าในปัจจุบัน โดยจะแสดงพิกัดเกิดเหตุไฟป่าแบบเรียลไทม์ทันทีที่มีการแจ้งเหตุ และจะส่งการแจ้งเตือนพร้อมกันไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ทุกหน่วยงานสามารถสื่อสารกันได้ในห้องสนทนาเฉพาะกิจผ่อดีดี (chat room) พร้อมติดตามดูสถานการณ์ตั้งแต่ได้รับแจ้งเหตุจนกระทั่งเหตุการณ์สงบได้ โดยทุกคำสั่งการจะถูกบันทึกในระบบดิจิทัล และถูกประมวลผลออกมาเป็นรายงานสรุปเหตุการณ์ไฟป่าอัตโนมัติตามช่วงเวลาที่ต้องการ และทำการพัฒนาแผงช่วยบัญชาการดับไฟป่า (PODD Contingency Fire Prevention & Control System) เพื่อทำการเชื่อมต่อข้อมูลจุดความร้อนของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และแสดงผลข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับจุดเกิดเหตุไฟป่า/หมอกควัน เช่น สภาพกำลังคนและทรัพยากรในการดับไฟ รูปภาพเหตุการณ์และขนาดความรุนแรงของไฟป่าในขณะที่รายงาน ประเภทพื้นที่ และยังสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในระบบสื่อสารผ่านห้องสนทนาเฉพาะกิจผ่อดีดี ระหว่างผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบการจัดการมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมช่วยดับไฟป่าด้วยเครื่องมือดิจิทัลผ่อดีดี
นอกจากนี้ยังได้ทำการพัฒนาอีก 2 ส่วนสำคัญ สำหรับฟีเจอร์ไฟป่า คือ
1. การรายงานคนเข้าป่าในช่วงฤดูกาลห้ามเผา เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเฝ้าระวังการเผาป่าจากผู้ที่เข้าป่าในช่วงเวลานั้นๆ
2. การรายงานปริมาณเชื้อเพลิง เพื่อใช้ในการตรวจสอบหรือประเมินสภาพต้นไม้และใบไม้ ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงต่อไป
13. ฟีเจอร์ฝุ่น PM 2.5
ฟีเจอร์นี้พัฒนาขึ้นโดยไม่ต้องมีคนรายงาน ระบบผ่อดีดีจะดึงข้อมูล จากเครื่องวัดค่าฝุ่นในพื้นที่ (เครื่องวัดจากภาคีเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ)มาประมวลผลและแจ้งเตือนผ่านระบบผ่อดีดี โดยใน อปท. จะมีการแจ้งเตือน 4 ครั้งต่อวัน (เวลา 06.00 น./ 12.00น./ 15.00 น./ 18.00 น.) และในโรงเรียนจะมีการแจ้งเตือน 3 ครั้งต่อวัน (เวลา 07.00 น./ 10.00 น./ 14.00 น.) พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางปฏิบัติสำหรับ อปท. และโรงเรียนตามระดับความรุนแรงของค่าฝุ่น
ด้านอาหารปลอดภัย
14. ฟีเจอร์อาหารปลอดภัย
การที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งที่เป็นอันตรายปะปนอยู่ในอาหารหรือเครื่องดื่ม ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้บริโภค รวมถึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกายได้อีกด้วย ศูนย์ผ่อดีดีกลางจึงได้พัฒนาฟีเจอร์อาหารปลอดภัย เพื่อเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านและอาสาสมัครผ่อดีดีแจ้งปัญหาเกี่ยวกับอาหาร/เครื่องดื่มที่ไม่มีคุณภาพ เช่น อาหารไม่สะอาด/ไม่ได้มาตรฐาน ร้านอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ใช้น้ำมันทอดซ้ำ เป็นต้น โดยกรอกข้อมูลและรายละเอียดของอาหารที่พบผ่านฟีเจอร์นี้ในแอปพลิเคชันไลน์ PODD Report จากนั้นระบบจะทำการประมวลผล และแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามการตั้งค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณสุขอำเภอเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป
15. ฟีเจอร์บันทึกการผลิต & รับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (podd PGS)
เป็นเครื่องมือดิจิทัล ที่ช่วยเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตทำมาตรฐานสำหรับรับรองเกษตรอินทรีย์ "พีจีเอส" ได้ด้วยตนเอง โดยเครื่องมือเสมือนเป็นแผนที่นำทางในการดำเนินขั้นตอน จดบันทึกการผลิต จัดเก็บข้อมูล และประมวลผลอัตโนมัติ สำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ การตรวจประเมินภายใน การตรวจรับรอง รวมถึงเพื่อใช้ข้อมูล สำหรับวางแผนการตลาด และยังสามารถใช้ฐานข้อมูลสะสมหลายปี รับรองการเป็นแปลงหรือโฉนดอินทรีย์ ฟีเจอร์นี้สามารถใช้งานได้ผ่านแอปพลิเคชันผ่อดีดีพีจีเอส (podd PGS) โดยดาวน์โหลดได้ทาง Play Store สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
16. ฟีเจอร์ฟาร์มอารมณ์ดี
เป็นเครื่องมือดิจิทัล ที่ช่วยเกษตรกรและกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ทำมาตรฐาน สำหรับรับรองปศุสัตว์ปลอดภัยจนถึงอินทรีย์ โดยเครื่องมือเสมือนเป็นแผนที่นำทางในการดำเนินขั้นตอน จดบันทึก จัดเก็บข้อมูลและประมวลผลอัตโนมัติ สำหรับการตรวจรับรอง ฟีเจอร์นี้สามารถใช้งานได้ผ่านแอปพลิเคชันฟาร์มอารมณ์ดี โดยดาวน์โหลดได้ทาง Play Store สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
ฟีเจอร์ใหม่ !!!
17. ฟีเจอร์แจ้งเหตุงานบริการสาธารณะ
ฟีเจอร์ใหม่ที่พัฒนาขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการประชาชนที่ต้องการแจ้งเหตุผิดปกติ เหตุต้องการความช่วยเหลือ ร้องเรียน ร้องทุกข์ แก้ไข หรือปรับปรุง ฯลฯ โดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาการแจ้งเหตุผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (@podd-report) เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
18. ฟีเจอร์ระบบดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (PODD LTC)
PODD LTC มีสามส่วน ส่วนที่หนึ่ง การบันทึกข้อมูลส่วนตัว แบบประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธล (ADL) (อ้างอิงตามแบบประเมินของกรมอนามัย) ส่วนที่สอง ระบบติดตาม/ตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุฯหรือผู้ป่วยที่ได้รับแผนการดูแลพิเศษ เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนที่สาม การแจ้งขอรับความช่วยเหลือ ประโยชน์ที่ได้รับ อปท.และหน่วยงาน สามารถดูแลและบริหารจัดการผู้สูงอายุฯ ได้ทันทีและทั่วถึง อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ในการ กรอกข้อมูลและประมวลผลด้วยระบบดิจิทัลทดแทนการใช้กระดาษ ระบบประมวลผลข้อมูลเป็นรายงานการติดตาม/ตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุฯรายบุคคล สำหรับผู้ที่พบปัญหาสุขภาพระบบจะมีการแจ้งเตือนภาวะสุขภาพส่งไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการดูแลช่วยเหลือ และยังสามารถแสดงรายงานผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ผู้บริหารได้ทราบด้วย
นอกจากนี้ PODD LTC ยังสามารถใช้คัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนเชิงรุก ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ อปท.และหน่วยงานสามารถใช้ค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันและโรคเบาหวาน เพื่อวางแผนดำเนินการให้คนกลุ่มเสี่ยงมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง ลดการป่วย/ตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
19. ฟีเจอร์รับความช่วยเหลือสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชน (กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา)